วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

วิตักกสันฐานสูตร

วิตักกสันฐานสูตร

พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน
(ตอนที่ ๑)
›››››
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จักแสดง วิตักกสันฐานสูตร พระสูตรที่แสดงสันฐานทรวดทรงของวิตก คือความตรึกนึกคิด เป็นการแสดง พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานนำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ตามพระสูตรดังกล่าวมีใจความว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติประกอบอธิจิต จิตที่ยิ่งคือสมาธิ พึงมนสิการกำหนดใส่ใจนิมิต ๕ ประการ จึงจะอธิบายคำว่านิมิตก่อน

นิทานเซ็น พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง

นิทานเซ็น

พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com
นิทานเรื่องที่ ๗ ของเขามีว่า นิทานเรื่องนี้ ชื่อเรื่อง "พระพุทธเจ้าองค์หนึ่ง"ในนครโตเกียว สมัยศักราชเมจิ มีอาจารย์ที่เก่งๆ อยู่สองคน คนหนึ่งชื่อ อันโช เป็นครูบาอาจารย์ในนิกายชินงอน คนนี้ไม่ดื่มเลย อีกคนหนึ่ง ชื่อ แตนแซน หรือ ตานซาน ก็แล้วแต่จะเรียก เป็นครูบาอาจารย์ ในมหาวิทยาลัยด้วย ไม่เคยถือศีลเลย จึงดื่มจัด หรือ ละโมบในการบริโภควันหนึ่ง อาจารย์อันโชไปเยี่ยม อาจารย์ตานซาน กำลังดื่มอยู่พอดี อาจารย์ตานซานก็ถามว่า จะไม่ดื่มบ้างเทียวหรือ คือกล่าวชักชวนให้ดื่มนั่นเอง

นิทานเซ็น ถ้าจะรักก็จงรักอย่างเปิดเผย

นิทานเซ็น
ถ้าจะรักก็จงรักอย่างเปิดเผย
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com
นิทานเรื่องที่ ๕ เรื่อง "If love, love openly" ถ้าจะรัก ก็จงรักอย่างเปิดเผย
ในวัดนิกาย เซ็น อีกเหมือนกัน มีภิกษุ อยู่หลายสิบรูป และมี นักบวชผู้หญิง ที่เรียกว่า nun อยู่คนหนึ่ง ชื่อ เอฉุ่น รวมอยู่ด้วย เอฉุ่น เป็นหญิง ที่สวยมาก แม้จะเอาผมออก เสียแล้ว แม้จะใช้ เครื่องนุ่งห่ม ของนักบวช ที่ปอนมาก ก็ยังสวย อย่างยิ่ง อยู่นั่นเอง และทำความ วุ่นวาย ให้แก่ภิกษุทั้งหมด นั้นมาก แทบว่า จะไม่มีจิตใจ ที่จะสงบได้ ภิกษุองค์หนึ่ง ทนอยู่ไม่ได้ ก็เขียนจดหมาย ส่งไปถึง ขอร้อง ที่จะมีการพบ อย่าง private คือเป็นการขอพบ เฉพาะตัว เอฉุ่น ก็ไม่ตอบจดหมายนั้น อย่างไร แต่พอวันรุ่งขึ้น กำลังประชุม อบรมสั่งสอน กันอยู่ ซึ่งมีชาวบ้าน จำนวนมาก รวมอยู่ด้วย พอสั่งสอน จบลง เอฉุ่น ก็ยืนขึ้น กล่าวถึง ภิกษุนั้นว่า ภิกษุที่เขียนจดหมาย ถึงฉันนั้น ขอให้ก้าวออกมา ข้างหน้า จากหมู่ภิกษุ เหล่านั้นเถิด ถ้ารักฉันมากจริงๆ ก็จงมากอดฉัน ที่ตรงนี้แล้วนิทานของเขาก็จบ

นิทานเซ็น ความเชื่อฟัง

นิทานเซ็น
ความเชื่อฟัง
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com
นิทานเรื่องที่สี่ เรียกว่า เรื่อง "ความเชื่อฟัง"
ธฺยานาจารย์ชื่อ เบ็งกะอี เป็นผู้มีชื่อเสียงในการเทศนาธรรม คนที่มาฟังท่านนั้น ไม่ใช่เฉพาะแต่ในวงของ พวกนิกายเซ็น พวกนิกายอื่น หรือคนสังคมอื่น ก็มาฟังกัน ชนชั้นไหนๆ ก็ยังมาฟัง เพราะว่า ท่านไม่ได้เอาถ้อยคำในพระคัมภีร์ หรือในหนังสือ หรือ ในพระไตรปิฎกมาพูด แต่ว่าคำพูดทุกคำนั้น มันหลั่งไหลออกมาจากความรู้สึกในใจของท่านเองแท้ๆ ผลมันจึงเกิดว่า คนฟังเข้าใจ หรือชอบใจ แห่กันมาฟัง จนทำให้วัดอื่นร่อยหรอคนฟัง เป็นเหตุให้ ภิกษุรูปหนึ่ง ในนิกายนิชิเรน โกรธมาก คิดจะทำลายล้างอาจารย์เบ็กกะอี คนนี้อยู่เสมอ
วันหนึ่ง ในขณะที่ท่านองค์นี้กำลังแสดงธรรมอยู่ในที่ประชุม พระที่เห็นแก่ตัวจัดองค์นั้น ก็มาทีเดียว หยุดยืน อยู่หน้าศาลา แล้วตะโกนว่า

นิทานเซ็น อย่างนั้นหรือ

นิทานเซ็น
อย่างนั้นหรือ
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com


นิทานที่ สาม ชื่อเรื่อง "Is that so?" ท่านลองแปลเอาเองว่า อย่างไรมัน ก็คล้ายๆ กับว่า "อย่างนั้นหรือ?" นิทานที่สามนี้ เล่าว่า
ณ สำนักเซ็น ของอาจารย์ เฮ็กกูอิน ซึ่งเป็นวัดที่เลื่องลือมาก เป็นเหมือนกับว่า เป็นที่พึ่งของหมู่บ้าน ที่ร้านชำใกล้ๆ วัดนั้น มีหญิงสาวสวยคนหนึ่ง เป็นลูกเจ้าของร้าน ทีนี้ โดยกะทันหัน ปรากฏว่า มีครรภ์ขึ้นมา พ่อแม่เขา พยายาม ขยั้นขยอถาม ลูกสาวก็ไม่บอก แต่เมื่อถูกบีบคั้นหนักเข้า ก็ระบุชื่อ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน
เมื่อหญิงสาวคนนั้นระบุอาจารย์เฮ็กกูอินเป็นบิดาของเด็กที่อยู่ในครรภ์ พ่อแม่โกรธเป็นฟืนเป็นไฟ ไปที่วัด แล้วก็ไปด่าท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ด้วยสำนวนโวหารของคนที่โกรธที่สุดที่จะด่าได้อย่างไร
ท่านอาจารย์ไม่มีอะไรจะพูด นอกจากว่า "Is that so?" คือ ว่า "อย่างนั้นหรือ"
สองคนด่าจนเหนื่อย ไม่มีเสียงจะด่า ไม่มีแรงจะด่า ก็กลับไปบ้านเอง
ทีนี้ พวกชาวบ้านที่เคยเคารพนับถือ ก็พากันไปด่าว่าเสียที ที่เคยนับถือ อย่างนั้น อย่างนี้ ท่านก็ไม่มีประโยคอะไรที่จะพูด นอกจากว่า "Is that so?"
พวกเด็กๆ ก็ยังพากันไปด่าว่า พระบ้า พระอะไร สุดแท้แต่ ที่จะด่าได้ ตามภาษาเด็ก ท่านก็ว่า "Is that so?" ไม่มีอะไรมากกว่านั้น
ต่อมา เด็กคลอดออกมาจากครรภ์ บิดามารดาที่เป็นตายายของเด็ก ก็เอาเด็กไปทิ้งไว้ให้ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอินในฐานะเป็นการประชด หรือ อะไรก็สุดแท้ ว่า "แกต้องเลี้ยงเด็กคนนี้"
ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอิน ก็มีแต่ "Is that so?" ตามเคย
ท่านรับเด็กไว้ และต้องหานม หาอาหารของเด็กอ่อนนั้น จากบุคคลบางคน ที่ยังเห็นอกเห็นใจ ท่านอาจารย์ เฮ็กกูอินอยู่ พอเลี้ยงเด็กนั้นให้รอดชีวิต เติบโตอยู่ได้
ทีนี้ ต่อมานานเข้า หญิงคนที่เป็นมารดาของเด็กเหลือที่จะทนได้ มันเหมือนกับไฟนรก เข้าไปสุมอยู่ในใจ เพราะเขาไม่ได้พูดความจริง ฉะนั้น วันหนึ่ง เขาจึงไปสารภาพบอกกับบิดามารดาของเขาว่า บิดาที่แท้จริงของเด็กนั้น คือ เจ้าหนุ่มร้านขายปลา
ทีนี้ บิดามารดา ตายายคู่นั้น ก็มีจิตใจ เหมือนกับนรกเผาอยู่ข้างใน อีกครั้งหนึ่ง รีบวิ่งไปที่วัด ไปขอโทษ ขอโพย ต่ออาจารย์เฮ็กกูอิน ขอแล้ว ขอเล่าๆ เท่าที่จะรู้สึกว่า เขามีความผิดมากอย่างไร ก็ขอกันมากมายอย่างนั้น
ท่านก็ไม่มีอะไร นอกจาก Is that so? แล้วก็ขอหลานคนนั้น คืนไป
ต่อมา พวกชาวบ้านที่เคยไปด่าท่านอาจารย์ ก็แห่กันไปขอโทษอีก เพราะความจริงปรากฏขึ้น เช่นนี้ ขอกันใหญ่ ไม่รู้กี่สิบคน ขอกันนานเท่าไร ท่านก็ไม่มีอะไรจะพูด นอกจาก Is that  so? อีกนั่นเอง
เรื่องของเขาก็จบเท่านี้

นิทานเรื่องนี้ จะสอนว่าอย่างไร เราถือว่า นิทานชุดนี้ ก็เหมือนกับ นิทานอิสป ในทางวิญญาณ ในทาง Spiritual point of view

นิทานเรื่องนี้ สอนว่าอย่างไร นั้นหรือ มันก็เหมือนกับที่พระพุทธเจ้า ตรัสว่า "นตฺถิ โลเก รโห นาม" และ "นตฺถิ โลเก อนินฺทิโต" "การไม่ถูกนินทา ไม่มีในโลก" หรืออะไรทำนองนี้
แต่ท่านทั้งหลาย ลองเปรียบเทียบดูทีหรือว่า ถ้าพวกครูบาอาจารย์ ของเราทั้งหลาย เป็นผู้ถูกกระทำ อย่างท่านอาจารย์เฮ็กกูอิน ท่านจะเป็นอย่างนี้ได้ไหม คือจะ Is that so? คำเดียว อยู่ได้ไหม
ถ้าได้ เรื่องนี้ ก็คงจะไม่เป็น อย่างที่กำลังเป็นอยู่ คือ คงจะไม่ถูกฟ้องว่า ตีเด็กเกินควร หรือ อะไรทำนองนั้น ต้องไปถึงศาลก็มี

อาตมาเคยเห็น ครูที่บ้านนอก ต้องไปพูดกันถึงโรงถึงศาลก็มี เพราะตีเด็กเกินควร เป็นต้น นี่คือ มันหวั่นไหวต่ออารมณ์มากเกินไป จนกระทั่ง เด็กเล็กๆ ก็ทำให้โกรธได้ ทีเรื่องนิดเดียวก็ยังโกรธได้นี่ เพราะว่า ไม่ยึดถือความจริงเป็นหลักอยู่ในใจ มันจึงไหวไปตามอารมณ์ โกรธมาก กลัวมาก เกลียดมาก ล้วนแต่เป็นอารมณ์ร้ายไปเสียทั้งนั้น ทำไมไม่คิดว่า มันไม่ใช่ เรื่องราวอะไรมากมาย มันไม่ใช่ เป็นไปตามเสียงส่วนมาก ที่ยืนยันว่า อันนั้น ต้องเป็นอันนั้นจริง ความจริง มันต้องเป็นความจริง ถ้าจะมีอุเบกขา ก็ควรจะมีอุเบกขาอย่างนี้ ไม่ใช่ อุเบกขาผิดอย่างอื่น ฉะนั้น เราควรจะฟังของเขาไว้

นิทานเซ็น เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม

นิทานเซ็น
เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.buddhadasa.com
เรื่องที่สอง เรื่อง เพชรที่หาได้จากโคลนในถิ่นสลัม อาตมา ต้องขอใช้คำอย่างนี้ เพราะไม่ทราบว่า จะใช้คำอย่างไรดี ที่จะให้รวดเร็ว และสั้นๆ ท่านจะรู้สึกอย่างไร ก็ตามใจ ที่จะต้อง ใช้คำอย่างนี้ "เพชรที่หาพบจากโคลนในถิ่นสลัม" เรื่องนี้ก็เล่าว่า
อาจารย์แห่งนิกายเซ็นชื่อ กูโด เป็นอาจารย์ของพระจักรพรรดิแห่งประเทศญี่ปุ่นในสมัยนั้น ท่านอาจารย์องค์นี้ชอบเที่ยวไปไหนคนเดียวโดดๆ อย่างนักบวชเร่ร่อนแบบปริพาชก ไม่ค่อยได้อยู่กับวัดวาอาราม ครั้งหนึ่ง ท่านเดินทางไปยังตำบลอีโด เพื่อประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งของท่านที่จะมีแก่คนอื่น ท่านได้ผ่านตำบล ๆ หนึ่ง
เย็นวันนั้น ฝนก็ตกมา ท่านจึงเปียกปอนไปหมดและรองเท้าของท่านที่ใช้ เป็นรองเท้าทำด้วยฟาง เพราะ นักบวชนิกายเซ็นใช้รองเท้าฟางถักทั้งนั้น เมื่อฝนตกตลอดวันรองเท้าก็ขาดยุ่ยไปหมด ท่านจึงเหลียวดูว่าจะมีอะไรที่ไหน จะแก้ปัญหาเหล่านี้ได้บ้าง ก็พบกระท่อมน้อยๆ แห่งหนึ่งในถิ่นใกล้ๆ นั้น เห็นรองเท้าฟางมีแขวนอยู่ด้วย ก็คิดจะไปซื้อสักคู่หนึ่ง เอาแห้งๆ มาใส่ เพื่อเดินทางต่อไป หญิงเจ้าของบ้านนั้น เขาถวายเลยไม่ต้องซื้อ และเมื่อเห็นว่า เปียกปอนมาก ก็เลยขอนิมนต์ให้หยุดอยู่ก่อน เพราะฝนตกจนค่ำ ท่านก็เลยต้องพักอยู่ที่บ้านนั้น ด้วยคำของร้องของหญิงเจ้าของบ้าน
หญิงเจ้าของบ้าน เรียกเด็กๆ และญาติๆ มาสนทนาด้วยท่านอาจารย์; ท่านได้สังเกตเห็นว่า สกุลนี้เป็นอยู่ด้วยความข้นแค้นที่สุด ก็เลยขอร้องให้บอกเล่าตรงๆ โดยไม่ต้องเกรงใจว่าเรื่องมันเป็นอย่างไรกัน หญิงเจ้าของบ้านก็บอกว่า
"สามีของดิฉัน เป็นนักการพนัน แล้วก็ดื่มจัด ถ้าเผอิญเขาชนะ เขาก็ดื่มมันจนไม่มีอะไรเหลือ ถ้าเขาแพ้ เขาก็ยืมเงินคนอื่น เล่นอีก เพิ่มหนี้สินให้มากขึ้น เขาไม่เคยมาบ้านเลย เป็นวันเป็นคืน หรือหลายวัน หลายคืน ก็ยังมี ดิฉันไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี"
ท่านอาจารย์กูโดว่า ไม่ต้องทำหรอก ฉันจะช่วยทำ แล้วก็ว่า
“นี่ ฉันมีเงินมาบ้าง ช่วยให้ซื้อเหล้าองุ่น มาให้เหยือกใหญ่ๆ เหยือกหนึ่ง แล้วก็อะไรๆ ที่ดีๆ ที่น่ากิน เอามาให้เป็นจำนวนเพียงพอ เอามาวางที่นี่ แล้วก็กลับไปทำงานตามเรื่องเถอะ ฉันจะนั่งอยู่ที่นี่ ตรงหน้าที่บูชา”
ข้อนี้ หมายความว่า บ้านนั้นก็มีหิ้งบูชาพระ เมื่อผู้ชายคนนั้น กลับมาบ้านเวลาดึก เขาก็เมา เขาก็พูด ตามประสาคนเมา นี่คำนี้ จะแปลว่ายังไง Hey! wife; ก็ต้องแปลว่า เมียโว้ย! มาบ้านแล้วโว้ย; มีอะไรกินบ้างโว้ย ตัวหนังสือเขาเป็นอย่างนี้ ซึ่งมันก็เหมือนๆ กับในเมืองไทยเรา นี้เอง นี่ลองคิดดูว่า คนๆ นี้ จะเป็นอย่างไร
ฉะนั้น กูโด ท่านอาจารย์ที่นั่งที่หน้าหิ้งพระก็ออกรับหน้าบอกว่า
“ฉันได้มีทุกอย่าง สำหรับท่าน เผอิญฉันมาติดฝนอยู่ที่นี่ ภรรยาของท่านเขาขอร้องให้ฉันพัก ค้างฝน ที่นี่ตลอดคืนนี้ ฉันก็ควรจะมีส่วนตอบแทนท่านบ้าง ฉะนั้น ขอให้ท่านบริโภคสิ่งเหล่านี้ตามชอบใจ
ชายคนนั้นดีใจใหญ่ มีทั้งเหล้าองุ่น มีทั้งปลา มีทั้งอาหารต่างๆ เขาก็ดื่มและรับประทาน จนนอนหลับไปไม่รู้สึกตัวอยู่ตรงข้างๆ เข่าของท่านอาจารย์ กูโด ที่นั่งสมาธิ ตลอดคืนนั้น เหมือนกัน
ทีนี้ พอตื่นขึ้นมาตอนเข้า ชายคนนั้นก็ลืมหมด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เพราะเมื่อคืนนี้เขาเมาเต็มที่ และถามว่า ท่านเป็นใคร  และจะไปข้างไหน ท่านอาจารย์ ก็ตอบว่า
อ๋อ! อาตมาคือ กูโด แห่งนครเกียวโต กำลังจะไปธุระที่ตำบลอิโด ตามเรื่องที่ว่ามาแล้ว เมื่อกี้นี้
ถ้อยคำอย่างนี้ มันประหลาดที่ว่า บางครั้งก็มีอิทธิพลมากมาย คือว่า ชายคนนั้น ละอายจนเหลือที่จะรู้ว่า จะอยู่ที่ไหน จะแทรกแผ่นดินหนีไปที่ไหนก็ทำไม่ไหว แทรกไปไม่ได้ มันละอายถึงขนาดอย่างนั้นแล้ว ก็ขอโทษขอโพย ขอแล้วขออีก จนไม่รู้จะขออย่างไร ต่ออาจารย์ของพระจักรพรรดิ ซึ่งจับพลัดจับผลูเข้ามาอยู่ที่บ้านเขา
ท่านกูโด ก็ยิ้มละไมอยู่เรื่อย แล้วก็พูดขึ้นช้าๆ บอกว่า
"ทุกอย่างในชีวิตนี้ มันเปลี่ยนแปลงเรื่อย เป็นกระแสไหลเชี่ยวไปทีเดียว และทั้งชีวิตนี้ มันก็สั้นเหลือเกินด้วย ถ้ายังเล่นการพนันและดื่มอยู่ดังนี้ ก็หมดเวลาที่จะทำอะไรอื่นให้เกิดขึ้น หรือสำเร็จได้ นอกจากทำตัวเองให้เป็นทุกข์แล้ว ก็จะทำให้ครอบครัวพลอยตกนรกทั้งเป็นกันไปด้วย"
ความรู้สึกอันนี้ได้ประทับใจนายคนนั้น มีอาการเหมือนกับว่า ตื่นขึ้นมาในโลกอื่น เหมือนกับตื่นขึ้นมาจากความฝัน ในที่สุด ก็พูดกับท่านอาจารย์ว่า
“ที่ท่านอาจารย์กล่าวนั้น มันถูกหมดเลย มันถูกอย่างยิ่ง ถ้าอย่างไร ก็ขอให้กระผมได้สนองพระคุณอาจารย์ในคำสั่งสอนที่ประเสริฐนี้ เพราะฉะนั้น ขอให้กระผมออกติดตามท่านอาจารย์ ไปส่งท่านอาจารย์ ในการเดินทางนี้สักระยะหนึ่ง”
ท่านอาจารย์กูโด ก็บอกว่า “ตามใจ”
สองคนก็ออกเดินทาง ไปได้ประมาณ ๓ ไมล์ ท่านอาจารย์ก็บอกว่า “กลับเถอะ”
นายคนนี้ก็บอก “ขออีกสัก ๕ ไมล์”
อาจารย์ขยั้นคะยอให้กลับอีกว่าถึงคราวที่ต้องกลับแล้ว นายคนนั้น ก็บอกว่า ขออีกสัก ๑๐ ไมล์เถอะ ในที่สุดก็ต้องยอม พอถึง ๑๐ ไมล์ ท่านอาจารย์ ขยั้นคะยอให้กลับ เขาก็ว่า ขอตลอดชีวิตของผมเถอะ
นี่ก็เป็นอันว่า ไปกับท่านอาจารย์ ไปเป็นนักบวชแห่งนิกายเซ็น ซึ่งต่อมาก็เป็น ปรมาจารย์พุทธศาสนาแห่งนิกายเซ็นในญี่ปุ่น นิกายเซ็นทุกสาขาที่เหลืออยู่ในญี่ปุ่นในทุกวันนี้ ออกมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียวเท่านั้น ล้วนแต่เป็นลูกศิษย์ที่สืบมาจากอาจารย์องค์นี้องค์เดียว ท่านกลับตัวชนิดที่เราเรียกกันว่า เพชรที่พบจากโคลนในถิ่นสลัม นี้เป็นอย่างไรบ้าง ก็ลองคิดดู
ในประเทศญี่ปุ่น นายกรัฐมนตรีบางคน ก็มาจากเด็กที่ขายเต้าหู้ หาบหนังสือพิมพ์ ก็เป็น นักเขียนหนังสือพิมพ์น้อยๆ สั้นๆ และเขื่องขึ้นๆ จนเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ที่มีชื่อเสียง และไปเป็นนายกรัฐมนตรีสมัยหนึ่งในที่สุด นี่เราจะบอกเด็กๆ ตาดำๆ ของเราว่า สิ่งต่างๆ นั้นเปลี่ยนแปลงได้ถึงอย่างนี้กันสักทีจะได้ไหม เด็กๆ เขาจะมีความรู้สึกอย่างไร ในฐานะของเขา เขาจะทำตัวให้เป็นเหมือนกับ "เพชรที่พบในโคลนจากถิ่นสลัม" ได้อย่างไร โดยมากเขามักจะขายตนเองเสียถูกๆ จนเป็นเหตุให้เขาวกไปหาความสุขทางเนื้อทางหนัง ต่ำๆ เตี้ยๆ ไม่น่าดูนั้น ก็เพราะว่า เขาเป็นคนที่ไม่เคารพตัวเอง ท้อถอยต่อการที่จะคิดว่า มันจะเป็นได้มากอย่างนี้
พระพุทธเจ้า ท่านก็ยังตรัสว่า เกิดมาเป็นคน นี่ ไม่ควรให้ตัวเอง "อตฺตานํ น ทเทยฺยโปโส" แปลว่า เป็นลูกผู้ชาย เป็นบุรุษ ไม่ควรให้ซึ่งตน


“ให้ซึ่งตน” นี้หมายความว่า  ยกตนให้เสียแก่กิเลส หรือ ธรรมชาติฝ่ายต่ำ มันก็ไม่ได้คิด ที่จะมีอะไร ที่ใหญ่โตมั่นคง ที่จะเป็นนั่น เป็นนี่ ให้จริงจังได้ ข้อนี้ เรียกว่า เราควรจะถือ เป็นหลักจริยธรรม ข้อหนึ่งด้วย เหมือนกัน

นิทานเซ็น น้ำชาล้นถ้วย

นิทานเซ็น
น้ำชาล้นถ้วย
โดย พุทธทาสภิกขุ
คัดลอกจาก http://www.thaimisc.com/freewebboard/php/vreply.php?user=nainoonui&topic=263
เรื่องที่หนึ่ง ซึ่งไม่อยากจะเว้นเสีย ทั้งที่ เคยเอ่ยถึงแล้ว วันก่อน คือ เรื่อง น้ำชาล้นถ้วย คือว่า
อาจารย์ แห่งนิกายเซ็น ชื่อ น่ำอิน เป็นผู้มีชื่อเสียงทั่วประเทศ และ โปรเฟสเซอร์คนหนึ่ง  เป็นโปรเฟสเซอร์ที่มีชื่อเสียงทั่วประเทศ ไปหา อาจารย์น่ำอิน เพื่อขอศึกษาพระพุทธศาสนาอย่างเซ็น
ในการต้อนรับ ท่านอาจารย์ น่ำอิน ได้รินน้ำชา ลงในถ้วย รินจนล้นแล้วล้นอีก โปรเฟสเซอร์ มองดูด้วยความฉงน ทนดูไม่ได้ ก็พูดโพล่งออกไปว่า "ท่านจะใส่มัน ลงไปได้อย่างไร" ประโยคนี้ มันก็แสดงว่า โมโห
ท่านอาจารย์ น่ำอิน จึงตอบว่า "ถึงท่านก็เหมือนกัน อาตมาจะใส่อะไร ลงไปได้อย่างไร เพราะท่านเต็มอยู่ด้วย opinions และ speculations ของท่านเอง" คือว่า เต็มไปด้วยความคิด ความเห็น ตามความยึดมั่นถือมั่น ของท่านเอง และมีวิธีคิดนึก คำนวณ ตามแบบของท่านเอง สองอย่างนี้แหละ มันทำให้เข้าใจพุทธศาสนาอย่างเซ็นไม่ได้ เรียกว่า ถ้วยชามันล้น
ท่านครูบาอาจารย์ทั้งหลาย จะเตือนสติเด็กของเราให้รู้สึกนึกคิด เรื่องอะไรล้น อะไรไม่ล้น ได้อย่างไร ขอให้ช่วยกันหาหนทาง ในครั้งโบราณ ในอรรถกถา ได้เคยกระแหนะกระแหนถึงพวกพราหมณ์ที่เป็นทิศาปาโมกข์ ต้องเอาเหล็กมาตีเป็นเข็มขัด คาดท้องไว้ เนื่องด้วยกลัวท้องจะแตกเพราะวิชาล้น นี้จะเป็นเรื่องที่มีความหมายอย่างไร ก็ลองคิดดู พวกเรา อาจล้น หรือ อัดอยู่ด้วยวิชาทำนองนั้น จนอะไรใส่ ลงไปอีกไม่ได้ หรือ ความล้นนั้น มันออกมาอาละวาด เอาบุคคลอื่น อยู่บ่อยๆ บ้างกระมัง

แต่เราคิดดูก็จะเห็นได้ว่า ส่วนที่ล้น นั้น คงจะเป็นส่วน ที่ใช้ไม่ได้ จะจริงหรือไม่ ก็ลองคิด ส่วนใดที่เป็นส่วนที่ล้น ก็คงเป็นส่วนที่ใช้ไม่ได้ ส่วนที่ร่างกายรับเอาไว้ได้ ก็คงเป็นส่วนที่มีประโยชน์ ฉะนั้น จริยธรรมแท้ๆ ไม่มีวันจะล้น โปรดนึกดูว่า จริยธรรม หรือ ธรรมะแท้ๆ นั้น มีอาการล้นได้ไหม ถ้าล้นไม่ได้ ก็หมายความว่า สิ่งที่ล้นนั้น มันก็ไม่ใช่จริยธรรม ไม่ใช่ธรรมะ ล้นออกไป เสียให้หมด ก็ดีเหมือนกัน หรือ ถ้าจะพูดอย่างลึก เป็นธรรมะลึก ก็ว่า จิตแท้ๆ ไม่มีวันล้น อ้ายที่ล้นนั้น มันเป็นของปรุงแต่งจิต ไม่ใช่ตัวจิตแท้ มันล้นได้มากมาย แต่ถึงกระนั้น เราก็ยังไม่รู้ว่า จิตแท้คืออะไร อะไรควรเป็น จิตแท้ และอะไรเป็นสิ่ง ที่ไม่ใช่จิตแท้ คือ เป็นเพียง ความคิดปรุงแต่ง ซึ่งจะล้นไหลไปเรื่อย นี่แหละ รีบค้นหาให้พบ สิ่งที่เรียกว่า จิตจริงๆ กันเสียสักที ก็ดูเหมือนจะดี

ในที่สุด ท่านจะพบตัวธรรมะอย่างสูง ที่ควรแก่นามที่จะเรียกว่า จิตแท้ หรือ จิตเดิมแท้ ซึ่งข้อนั้น ได้แก่ ภาวะแห่งความว่าง จิตที่ประกอบด้วย สภาวะแห่งความว่างจาก "ตัวกู-ของกู" นั้นแหละ คือ จิตแท้ ถ้าว่างแล้ว มันจะเอาอะไรล้น นี่เพราะเนื่องจากไม่รู้จักว่า อะไรเป็นอะไร จึงบ่นกันแต่เรื่องล้น การศึกษาก็ถูกบ่นว่า ล้น และที่ร้ายกาจที่สุด ก็คือ ที่พูดว่า ศาสนานี้ เป็นส่วนที่ล้น จริยธรรมเป็นส่วนล้น คือส่วนที่เกิน คือ เกินต้องการ ไม่ต้องเอามาใส่ใจ ไม่ต้องเอามาสนใจ เขาคิดว่า เขาไม่ต้อง เกี่ยวกับศาสนา หรือธรรมะเลย เขาก็เกิดมาได้ พ่อแม่ก็มีเงินให้ เขาใช้ให้เขาเล่าเรียน เรียนเสร็จแล้ว ก็ทำราชการ เป็นใหญ่เป็นโต ได้โดยไม่ต้อง มีความเกี่ยวข้อง กับศาสนาเลย ฉะนั้น เขาเขี่ยศาสนา หรือ ธรรมะ ออกไปในฐานะ เป็นส่วนล้น คือ ไม่จำเป็น นี่แหละ เขาจัดส่วนล้น ให้แก่ศาสนาอย่างนี้ คนชนิดนี้ จะต้องอยู่ ในลักษณะที่ ล้นเหมือน โปรเฟสเซอร์คนนั้น ที่อาจารย์น่ำอิน จะต้อง รินน้ำชาใส่หน้า หรือ ว่ารินน้ำชาให้ดู โดยทำนองนี้ทั้งนั้น เขามีความเข้าใจผิดล้น ความเข้าใจถูกนั้นยังไม่เต็ม มันล้นออกมา ให้เห็น เป็นรูปของ มิจฉาทิฎฐิ เพราะเขาเห็นว่า เขามีอะไรๆ ของเขาเต็มเปี่ยมแล้ว ส่วนที่เป็นธรรมะ เป็นจริยธรรมนี่ เข้าไม่จุ อีกต่อไป ขอจงคิดดูให้ดีเถอะว่า นี้แหละ คือ มูลเหตุที่ทำให้จริยธรรม รวนเร และ พังทลาย ถ้าเรามีหน้าที่ ที่จะต้องผดุงส่วนนี้แล้ว จะต้องสนใจเรื่องนี้
วิตักกสันฐานสูตร
พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐาน
(ตอนที่ ๑)
›››››
สมเด็จพระญาณสังวร
สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
วัดบวรนิเวศวิหาร
คัดจากเทปธรรมอบรมจิต ข้อความสมบูรณ์
อณิศร โพธิทองคำ บรรณาธิการ
]
บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น ตั้งใจถึงพระองค์พร้อมทั้งพระธรรมและพระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม
จักแสดง วิตักกสันฐานสูตร พระสูตรที่แสดงสันฐานทรวดทรงของวิตก คือความตรึกนึกคิด เป็นการแสดง พระพุทธเจ้าสอนกรรมฐานนำสติปัฏฐาน พระพุทธเจ้าได้ทรงตรัสสอนเอาไว้ตามพระสูตรดังกล่าวมีใจความว่า ภิกษุผู้ปฏิบัติประกอบอธิจิต จิตที่ยิ่งคือสมาธิ พึงมนสิการกำหนดใส่ใจนิมิต ๕ ประการ จึงจะอธิบายคำว่านิมิตก่อน
นิมิต ๕
นิมิตดังกล่าวนี้มี ๒ อย่าง คือ นิมิตของสมาธิอันเป็นฝ่าย กุศลนิมิต กับนิมิตของกิเลสอันเป็นฝ่าย อกุศลนิมิต สุดแต่ว่าสิ่งที่กำหนดนั้นนำให้เกิดสมาธิ หรือสิ่งที่กำหนดนั้นนำให้เกิดกิเลส
สุภนิมิต อสุภนิมิต
สิ่งที่กำหนดให้เกิดกิเลสก็ดังเช่นที่เรียกว่า สุภนิมิต สิ่งที่กำหนดหมายว่างดงาม คือเมื่อจิตกำหนดลงไปในสิ่งใดว่างดงาม สิ่งนั้นก็เรียกว่าสุภนิมิต สิ่งที่กำหนดหมายว่างดงาม ซึ่งนำให้เกิดกามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในกาม หรือทางกาม อันหมายถึงสิ่งที่น่ารักใคร่ปรารถนาพอใจ หรือความรักใคร่ปรารถนาพอใจ ดังเช่นเมื่อตาเห็นรูปอะไร หูได้ยินเสียงอะไร จมูกได้กลิ่นอะไร ลิ้นได้รสอะไร กายได้ถูกต้องอะไร ถ้าจิตกำหนดลงไปว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้นเป็น สุภะ คืองดงาม ก็นำให้เกิดกาม หรือกามฉันท์ ความรักใคร่พอใจ และสิ่งที่กำหนดนั้นก็เรียกว่ากามเหมือนกัน คือกามคุณารมณ์ หรือวัตถุกาม
แต่ถ้าหากว่าจิตกำหนดลงไปว่ารูปเสียงกลิ่นรสโผฏฐัพพะนั้นเป็น อสุภะ คือไม่งดงาม เป็นสิ่งปฏิกูลน่าเกลียดต่างๆ จิตก็จะสงบตั้งมั่นเป็นสมาธิได้ ไม่กวัดแกว่งไปในอารมณ์ มีรูปเป็นต้นเหล่านั้น อสุภนิมิต คือกำหนดหมายว่าไม่งดงามจึงนำให้จิตได้สมาธิ จึงเป็นนิมิตฝ่ายกุศล
อธิจิต จิตยิ่ง นี้คือนิมิต
พระพุทธเจ้าตรัสสอนเอาไว้ ยกภิกษุเป็นที่ตั้ง แต่ก็เป็นคำสอนสำหรับผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นบรรพชิต ไม่ว่าจะเป็นคฤหัสถ์ ก็พึงต้องปฏิบัติตามที่ตรัสสอนเอาไว้นี้ และที่ตรัสว่าปฏิบัติประกอบ
อธิจิต ก็หมายถึงสมาธิ เพราะสมาธินั้นชื่อว่าอธิจิต เพราะเป็นจิตที่ยิ่ง อันหมายความว่าเป็นจิตใจที่ยิ่งไปกว่าจิตสามัญทั้งปวง เพราะจิตสามัญทั้งปวงนั้นเป็นจิตที่เป็นไปตามความใคร่ปรารถนา
ตกไปตามใคร่ ตามปรารถนา ตามพอใจ ซึ่งมีปรกติดำเนินไปในทางกามเป็นพื้น ที่เรียกว่า กามาพจร ทางอภิธรรม คือเที่ยวไปในกาม หรือหยั่งลงในกาม เป็น กามาวจรจิต อยู่เป็นพื้น อาลัยของจิต เพราะฉะนั้น กามคุณารมณ์จึงเรียกว่า อาลัย คือเป็นที่พัวพันอาศัยของกามาวจรจิตทั้งหลาย เหมือนอย่างน้ำชื่อว่าอาลัย โดยที่เป็นที่อาศัยของปลา ปลาอาศัยอยู่ในน้ำฉันใด กามาวจรจิตก็อาศัยอยู่ในอาลัย คือกามคุณารมณ์ฉันนั้น นี้เป็นจิตสามัญ
ส่วนอธิจิตแปลว่าจิตยิ่ง คือจิตที่ยิ่งไปกว่าจิตสามัญดังกล่าว เพราะมาปฏิบัติให้จิตตั้งอาศัยอยู่ในอารมณ์กรรมฐาน ซึ่งสูงกว่ากาม
อารมณ์กรรมฐานทั้งปวงนั้นเป็นที่อาศัยของจิตที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น เพราะฉะนั้นผู้ปฏิบัติจึงต้องยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์ อันเป็นที่อาศัยโดยปรกติของกามาวจรจิตของตน ขึ้นมาสู่อารมณ์ของกรรมฐาน จะเป็นกรรมฐานข้อไหนก็เป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามาวจรจิตทั้งนั้น
ดังในสติปัฏฐาน ตั้งแต่ข้อว่าด้วยลมหายใจเข้าออก ตั้งจิตกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็เป็นการยกจิตขึ้นจากกามคุณารมณ์ มากำหนดในอารมณ์กรรมฐานคือลมหายใจเข้าออก ในข้อว่าด้วยอิริยาบถใหญ่ทั้งสี่ ว่าด้วยอิริยาบถน้อย และต่อไปว่าด้วยสติที่ไปในกาย คือพิจารณากายแยกออกเป็นอาการ ๓๑,๓๒ ก็เป็นนิมิตที่สูงขึ้นไปกว่านิมิตทางกามทั้งนั้น หรือเป็นอารมณ์ที่สูงกว่ากามคุณารมณ์ทั้งนั้น ทุกข้อทุกบท
เพราะฉะนั้น ข้อ ๑ จึงได้ตรัสสอนไว้มีความว่า เมื่อกำหนดนิมิตอันใด อกุศลธรรมทั้งหลาย อันประกอบด้วยฉันทะคือความพอใจในกาม ประกอบด้วยโทสะความขัดเคืองโกรธแค้น ประกอบด้วยโมหะความหลงบังเกิดขึ้น ก็พึงทำไว้ในใจ กำหนดนิมิตอื่น จากนิมิตนั้น
เมื่อกำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตนั้นได้ อกุศลธรรมทั้งหลาย หรืออกุศลวิตก ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย อันประกอบด้วยความพอใจในกามบ้าง ประกอบด้วยความขัดเคืองโกรธแค้นบ้าง ประกอบด้วยความหลงบ้าง ก็ย่อมจะสงบไป เปรียบเหมือนอย่างช่างไม้ หรือศิษย์ของช่างไม้ ตอกลิ่มสลักอันเก่าออก ด้วยลิ่มสลักอันใหม่ที่ดี ดั่งนี้
หลักปฏิบัติเริ่มต้นของกรรมฐานทั้งปวง ในข้อ ๑ นี้ ก็เป็นหลักปฏิบัติเริ่มต้นของผู้ปฏิบัติกรรมฐานทั้งปวง คือเมื่อยังมิได้ปฏิบัตินั้น จิตย่อมอาศัยคลุกเคล้าอยู่กับกามคุณารมณ์เป็นประจำ ฉะนั้นจิตนี้เองจึงประกอบด้วย กามฉันท์ ความพอใจรักใคร่ในทางกามบ้าง โทสะความโกรธแค้นขัดเคืองบ้าง โมหะความหลงบ้าง ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติกรรมฐาน จึงยกจิตขึ้นจากอารมณ์อันเป็นที่ท่องเที่ยวไปอาศัยของจิตนั้น ขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น เมื่อเป็นดั่งนี้ อกุศลธรรม อกุศลวิตก ทั้งหลายดังกล่าวก็จะสงบลง
และการปฏิบัติดั่งนี้ ก็เป็นเหมือนอย่างว่าไม้กระดานที่มีลิ่มสลักอันเก่าตอกติดอยู่แล้ว เมื่อต้องการที่จะนำเอาลิ่มสลักอันเก่านั้นออก ก็นำเอาลิ่มสลักอันใหม่ที่ดีมาตอกลงไปตรงนั้น เมื่อเป็นดั่งนี้ลิ่มสลักอันใหม่ที่ตอกลงไปนั้น แข็งแรงกว่า ดีกว่า จึงตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าหลุดลงไปได้ และไปตั้งอยู่แทนที่ลิ่มสลักอันเก่าที่หลุดออกไปนั้น ฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานจึงต้องตั้งต้นด้วยข้อนี้
อธิบายประกอบต่อไปว่า อันกามคุณารมณ์เป็นต้น ซึ่งเป็นที่อาศัยท่องเที่ยวไปของจิตสามัญ แม้ว่าจะยกเอากามขึ้นมาเป็นที่ตั้งเพียงข้อเดียว ก็พึงทราบว่า เมื่อมีกามก็ต้องมีโทสะ และต้องมีโมหะ ก็เป็นอันว่าที่เรียกว่ากามคุณารมณ์นั้นก็รวมทั้งกิเลสกองโทสะโมหะ ก็เป็นอันว่ากิเลส ๓ กอง คือราคะ โทสะ โมหะ หรือว่ากามฉันท์ โทสะ โมหะ หรือ พยาบาท โมหะ ซึ่งรวมเข้าเป็นกิเลสกองราคะ โทสะ โมหะ ๓ กองนี้ ย่อมสัมพันธ์กันอยู่ มีข้อราคะนำ หรือกามฉันท์นำ ก็จะต้องมีโทสะ มีโมหะ และข้อใดข้อหนึ่งก็อาจจะนำด้วยกันได้ทั้งนั้น และโดยเฉพาะโมหะนั้นอยู่ลึกซึ้งสักหน่อยหนึ่ง เรียกว่าเป็นมูลของทั้งหมดก็ได้
แต่ว่าที่ปรากฏอาการออกมาแจ่มชัดอยู่บ่อย ๆ ก็เป็นราคะ หรือกามฉันท์ หรือโทสะ และโมหะที่แสดงอาการหยาบ ๆ ออกมาก็เป็นความง่วงงุน ความเคลิบเคลิ้ม ความฟุ้งซ่าน ความรำคาญ ความเคลือบแคลงสงสัยต่าง ๆ แล้วยังมีโมหะที่ลึกซึ้งลงไปอีก ก็เป็นอันว่าจิตนั้นท่องเที่ยวไปอยู่ ประกอบอยู่ กับบรรดากิเลสเหล่านี้ ยกขึ้นพูดคำเดียวว่า กามาวจรจิต หรือจิตที่เป็นไปกับกามคุณารมณ์ เพราะฉะนั้น จึงเหมือนอย่างว่าเป็นลิ่มสลักที่เสียบจิตอยู่เป็นประจำ และจิตนี้เองก็มีความพอใจในสิ่งที่เสียบจิตอยู่นี้ด้วย เรียกว่ามีความติด ติดอยู่ในกิเลสที่เสียบจิตนี้ ไม่พยายามที่จะสลัดออก
เพราะฉะนั้นเมื่อยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ของกรรมฐานข้อใดข้อหนึ่ง ดังที่ตรัสสอนไว้ในสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นข้อปฏิบัติกรรมฐานทุกข้อ อารมณ์ของกรรมฐานที่ยกจิตขึ้นสู่นี้ ก็เหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ การที่จะให้ลิ่มสลักอันใหม่ลงไปสู่จิต หรือเข้ามาสู่จิตได้นั้น ก็จะต้องถอนเอาลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้ และในการที่จะถอนลิ่มสลักอันเก่าออกเสียให้ได้นั้น ก็จะต้องมีลิ่มสลักอันใหม่ที่แข็งแรงกว่าที่ดีกว่า และจะต้องมีกำลังตอก
ในการตอกนั้นที่ช่างไม้ตอกลิ่มสลัก ปรกติจะต้องมีไม้ค้อน ทำไมจะต้องมีไม้ค้อนก็เพราะว่า  ลำพังกำลังมือจะเอามือตอก หรือเอามือไปดัน ๆ ไม่สำเร็จ จะต้องมีไม้ค้อน และจะต้องออกกำลังตอก ทั้งลิ่มสลักอันใหม่นั้นก็จะต้องแข็งแรง ไม่ใช่ไม้ผุ ต้องเป็นไม้ที่แข็งแรงที่ดียิ่งไปกว่าลิ่มสลักอันเก่า และก็มีกำลังตอกที่แรงพอ จึงจะดันเอาลิ่มสลักอันเก่าที่เสียบไม้กระดานอยู่เก่านั้นหลุดลงไปได้
อุปการปฏิบัติเหมือนอย่างเป็นไม้ฆ้อน
เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสสอนอุปการปฏิบัติ ที่เหมือนอย่างเป็นไม้ค้อน เป็นพลังเรี่ยวแรงในการตอกไว้คือ
อาตาปี ความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน คือความเพียรที่เป็นเพียรอันแข็งแรง ที่จะระงับกิเลสลงได้ ไม่ใช่ทำเล่นๆคือต้องทำจริง เป็นความเพียรที่แข็งแรง
สัมปชาโณ รู้พร้อมหรือรู้ตัว คือรู้ที่อยู่กับตัวไม่ทิ้งตัว รู้เข้ามาภายใน
สโต สติกำหนด
วินัยโลเก อภิชฌา โทมนัสสัง กำจัดอภิชฌาคือความยินดี โทมนัสคือความยินร้ายในโลกเสีย
ดั่งนี้ ๔ ข้อนี้เป็นอุปการะปฏิบัติในการที่จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงไป ดังเช่นจะทำอานาปานสติ จะกำหนดอิริยาบถ จะทำกายคตาสติ พิจารณากาย เป็นต้น กรรมฐานเหล่านี้ก็เป็นเหมือนอย่างลิ่มสลักอันใหม่ ซึ่งแต่ละข้อก็เป็นกรรมฐานที่แข็งแรง เป็นลิ่มสลักที่แข็งแรง ที่ดีทั้งนั้น จึงอยู่ที่กำลังตอกของผู้ปฏิบัติ ที่จะต้องมีทั้ง ๔ ข้อนี้แข็งแรงพอ และตอกเอากรรมฐานข้อที่ตั้งปฏิบัติไว้ลงไปในจิตใจ ต้องมีความเพียรที่มีเรี่ยวแรงจริง ๆ แล้วก็มีสัมปชาณะ ความรู้ตัว รู้ไม่ทิ้งตัว มีสติกำหนดกำจัดยินดียินร้าย เอากันจริง ๆ เมื่อเป็นดั่งนี้แล้วจึงจะตอกเอาลิ่มสลักอันเก่าให้หลุดไปได้ และเมื่อตอกให้หลุดไปได้แล้วจิตก็ได้สมาธิ
ฉะนั้นผู้ปฏิบัติกรรมฐานที่ทำสมาธิ ไม่ได้สมาธิ ดังที่บ่น ๆ กันอยู่นั้นก็เพราะว่า กำลังที่จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงไปให้ลิ่มสลักอันเก่าหลุดนั้น ไม่พอ  ลิ่มสลักอันเก่ายังติดอยู่อย่างแน่นหนา ไปคิด ๆ เอาว่าเป็นอานาปานสติ ไปคิด ๆ เอาว่าเป็นกรรมฐานข้อนี้ข้อนั้น แล้วก็บ่นว่าไม่ได้สมาธิ เท่า ๆ กับว่าไปคลำ ๆ ดูลิ่มสลักอันเก่าเท่านั้น ไม่ได้ตอกอะไรกันลงไป จะต้องตอกกันลงไปจริง ๆ ต้องมีธรรมะทั้ง ๔ ข้อดังกล่าวมานั่น เป็นกำลังเรี่ยวแรงในการตอกลงไป และเมื่อเอาจริงแล้วก็ตอกได้ เมื่อตอกหลุดได้เมื่อใดก็เป็นสมาธิได้เมื่อนั้น และอีกข้อหนึ่งนั้น ไม่ใช่ว่าไม่ตอกกันจริง ๆ อย่างเดียว ยังรักษาลิ่มสลักอันเก่าไว้เสียด้วย
เพราะฉะนั้น การที่ผู้ปฏิบัตินั้นแม้ว่าจะตอกได้บ้าง แต่ว่าก็ยังนำเอาสลักอันเก่านั้นกลับเข้าที่เดิมไปอีก กลับไปกลับมากันอยู่ดั่งนี้ การปฏิบัติจึงเจริญไปไม่ได้มาก ฉะนั้นการที่จะปฏิบัติให้เจริญขึ้นได้มากนั้น จึงต้องพยายามที่จะตอกกันจริง ๆ และพยายามที่จะไม่นำเอาลิ่มสลักอันเก่ากลับเข้ามาอีก เมื่อเป็นได้ดั่งนี้แล้วกรรมฐานถึงจะเจริญ สมาธิปัญญาก็จะเจริญขึ้นไป
พิจารณาโทษของอกุศลวิตก
ข้อ ๒ ได้ตรัสสอนไว้ต่อไปว่า แม้เมื่อปฏิบัติทำไว้ในใจ กำหนดนิมิตอื่นจากนิมิตที่ก่อให้เกิดกิเลสนั้น แต่ว่าอกุศลธรรมอกุศลวิตกทั้งหลายก็ยังเกิดขึ้น เมื่อเป็นดั่งนี้ก็ให้พิจารณาโทษของอกุศลวิตก ของอกุศลธรรมเหล่านั้นว่า ความตรึกนึกคิดที่เป็นอกุศลทั้งหลาย เป็นอกุศลคือเป็นกิจของคนที่ไม่ฉลาด เป็นสิ่งที่มีโทษอย่างนี้ ๆ และเมื่อพิจารณาดั่งนี้จนจิตใจนี้เห็นโทษของอกุศลวิตก ของอกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลวิตก อกุศลธรรมทั้งหลายเหล่านั้นก็จักสงบไป
ได้ตรัสเปรียบเป็นข้ออุปมาไว้ว่า เหมือนอย่างชายหนุ่มหญิงสาวที่กำลังรักสวยรักงาม ย่อมอึดอัด ย่อมรังเกียจระอาไม่ต้องการ ในเมื่อเห็นทรากศพของงู ของสุนัข หรือซากศพของคน คล้องอยู่ที่คอของตน ย่อมสลัดออกทิ้งไปเสียโดยเร็ว ฉันใดก็ดี ผู้ปฏิบัติเมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย ของบาปอกุศลทั้งหลายที่บังเกิดขึ้นกลุ้มรุมจิตใจอยู่ เมื่อจิตรับรู้มองเห็นโทษ ก็ย่อมจะสลัดอกุศลวิตกอกุศลธรรมเหล่านั้นออกไปจากจิต ไม่รักษาเอาไว้ อกุศลธรรมทั้งหลาย อกุศลวิตกทั้งหลายก็จะสงบไปได้
ในข้อนี้ได้ตรัสสอนว่าเมื่อใช้ข้อ ๑ ยังไม่สำเร็จก็ให้มาใช้ข้อ ๒ พิจารณาดูว่าทำไมจึงไม่สำเร็จ ตามที่ตรัสสอนไว้ในข้อ ๒ นี้ก็ชี้แล้วว่า เพราะยังมองเห็นคุณของอกุศลวิตกทั้งหลายอยู่ ของนิมิตแห่งกิเลสทั้งหลายอยู่ จึงยังมี “นันทิ” ความเพลิน “ราคะ” ความติดใจยินดี อยู่ในนิมิตเหล่านั้น ก็แปลว่ายังพอใจอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า ยังมีราคะติดใจยินดี มี “นันทิ” ความเพลินอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า ยังไม่ยอมที่จะให้ถอนออกไป จึงยังรักษาเอาไว้ ยังต้องการอยู่
ในบางคราวก็ว่าจะปฏิบัติ และเมื่อปฏิบัติทำกรรมฐานเช่นทำอานาปานสติก็ทำไป แต่ว่าไม่ได้มุ่งที่จะให้ถอนลิ่มสลักอันเก่าดังกล่าวนี้ออก บางทีเมื่อจิตได้สมาธิบ้าง สมาธินั้นก็เท่ากับว่าลิ่มสลักอันใหม่ ลงไปดันเอาลิ่มสลักอันเก่าหลวมหรือว่าโยกคลอน หรือว่าหลุดออกไปได้บ้างแล้ว แต่ยังไม่จริงจังอะไรนัก เพราะยังพอใจ ยังติดอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า คือเมื่อว่ายังไม่เห็นโทษ เพราะฉะนั้น จึงเป็นอันว่าไม่สำเร็จ เพราะว่าจิตนี้เองยังมีราคะติดใจ นันทิเพลินอยู่ในลิ่มสลักอันเก่า ยังไม่ต้องการที่จะถอนจริง
ฉะนั้น จึงต้องพิจารณาให้เห็นโทษที่ตรัสสอนไว้ในข้อที่ ๒ ว่าลิ่มสลักอันเก่านั้นมีโทษ คือกามคุณารมณ์ทั้งหลายนั้นเป็นสิ่งที่มีโทษไม่ใช่เป็นสิ่งที่มีคุณ หรือว่ามีคุณก็มีคุณน้อย แต่ว่ามีโทษมาก ให้มองเห็นดั่งนี้ จนถึงให้มองเห็นเหมือนอย่างว่าเป็นซากศพของงู ของสุนัข ของคน แขวนอยู่ที่คอ เพราะฉะนั้น เมื่อเห็นว่าเป็นทรากศพดังกล่าวแขวนอยู่ที่คอ คนที่รักสวยรักงามก็จะต้องสลัดออกทิ้งทันที ไม่ต้องการ ฉะนั้น เมื่อพิจารณาเห็นโทษของอกุศลวิตกทั้งหลาย ของอกุศลธรรมทั้งหลาย ที่ข้องติดอยู่ในจิต จิตก็ย่อมต้องการที่จะสลัดออก ไม่ติดใจไม่ยินดี เมื่อเป็นดั่งนี้ ก็จะตอกลิ่มสลักอันใหม่ลงกันไปอย่างจริงจัง มีความเพียรอย่างจริงจัง มีความรู้ตัว ไม่ทิ้งตัวอย่างจริงจัง มีสติกำหนดจริงจัง ละอภิชฌายินดีโทมนัสยินร้ายกันอย่างจริงจัง ก็จะตอกให้หลุดไปได้ เมื่อตอกหลุดไปได้ก็เป็นอันว่าอกุศลวิตกทั้งหลาย อกุศลธรรมทั้งหลายตกลง สงบลงไป
ต่อไปนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป

ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ



ทำไมไม่พูดถึงวิปัสสนาญาณ
วิปัสสนาญาณ คือ ปัญญา ความรู้ ความเห็นแจ้งด้วยตนเองถึงธรรมชาติที่แท้จริงของรูปนาม(ความไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ไม่อยู่ในอำนาจของใคร ไม่เป็นไปตามใจปรารถนา ยึดมั่นถือมั่นไม่ได้ ฯลฯ) อันเป็นผลจากการเจริญวิปัสสนา ซึ่งเมื่อความรู้ ความเห็นแจ้งนี้พอกพูนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้ความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนการมองโลก ของผู้ปฏิบัติ เปลี่ยนแปลงไปตามลำดับขั้นของปัญญานั้น ทีละมากบ้างน้อยบ้าง จนในที่สุดก็จะทำลายความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งต่างๆ อันเป็นต้นเหตุแห่งกิเลส และความทุกข์ทั้งปวง ลงไปอย่างถาวรในขณะแห่งมรรคญาณ และจะเห็นผลของการทำลายนั้นได้อย่างชัดเจน ในขณะแห่งผลญาณ
ลำดับขั้นของพัฒนาการเหล่านี้ ได้รับการแบ่งเป็นขั้นย่อยๆ เอาไว้หลายแนวทาง เช่น
- แบ่งตามแนวของวิสุทธิคุณ 7 ได้เป็น 7 ขั้น
- แบ่งตามแนวโสฬสญาณ หรือ ญาณ 16 ได้เป็น 16 ขั้น
แต่ถ้าสังเกตให้ดีแล้ว จะเห็นว่าผู้ดำเนินการไม่เคยเขียนรายละเอียดของเรื่องเหล่านี้เอาไว้เลย ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? ขออธิบายถึงข้อดีข้อเสียของเรื่องเหล่านี้ ดังนี้ :
ถึงแม้ผู้ปฏิบัติจะไม่รู้เกี่ยวกับลำดับขั้นของวิปัสสนาญาณเลย แต่ถ้าปฏิบัติถูกทางแล้ว วิปัสสนาญาณก็ย่อมจะเกิดขึ้นมาเองโดยลำดับอยู่แล้ว และแน่นอนว่าผลอันสืบเนื่องจากวิปัสสนาญาณนั้น ก็ย่อมจะเกิดตามมาอย่างไม่ต้องสงสัย และพัฒนาการต่างๆ ก็ย่อมจะเป็นไปตามขั้นตอน ตามวาสนา บารมี และอุปนิสัย อันเป็นลักษณะเฉพาะตัวของแต่ละบุคคล เพราะต้นเหตุที่แท้จริงของการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ ก็คือความรู้ ความเข้าใจ ความเห็นแจ้งในธรรมชาติของรูปนามด้วยปัญญาของตนเอง อันเกิดจากการเจริญวิปัสสนานั่นเอง ไม่ใช่เกิดจากระเบียบกฎเกณฑ์ที่ใครวางเอาไว้เลย จะมีก็แต่กฎเกณฑ์ของธรรมชาติเท่านั้น
แต่ถ้าผู้ปฏิบัติรู้เรื่องรายละเอียดของวิปัสสนาญาณขั้นต่างๆ ล่วงหน้า ก่อนที่ความเห็นแจ้งเหล่านั้นจะเกิดขึ้นด้วยปัญญาของตนเองจริงๆ แล้ว ผลเสียที่อาจจะเกิดตามมาก็คือ
1. การปฏิบัติจะก้าวหน้าได้ช้า เพราะผู้ปฏิบัติมัวแต่คอยเปรียบเทียบผลการปฏิบัติของตน กับทฤษฎีอยู่ และอาจถึงขั้นทำให้เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่อยู่กับสภาวะอันเป็นปัจจุบันเฉพาะหน้า จนปัญญาไม่เกิดเลยก็ได้
2. ผู้ปฏิบัติอาจเกิดอติมานะ คือความเย่อหยิ่งถือตนว่าปฏิบัติได้สูงกว่าคนอื่น ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่ง และอาจมีผลสืบเนื่องให้กิเลสตัวอื่นๆ เกิดตามมา
3. อาจเกิดญาณเทียมขึ้นมาได้ เพราะผู้ปฏิบัติรู้ล่วงหน้าแล้วว่าต่อไปควรเกิดความรู้ และความรู้สึกอย่างไรขึ้นมาบ้าง และด้วยความที่อยากจะก้าวหน้าไปเร็วๆ จึงเกิดการน้อมใจไปสู่ความรู้สึกเช่นนั้น หรือเกิดการสะกดจิตตนเองโดยไม่รู้ตัว ทั้งที่ปัญญาเหล่านั้นยังไม่เกิดขึ้นจริง แต่อาศัยสัญญาคือการจำมาจากตำรา หรือจากผู้อื่น
(ซึ่งสัญญาจะทำได้ก็เพียงข่มกิเลสเอาไว้เท่านั้น ไม่สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่น และกิเลสต่างๆ ได้อย่างแท้จริง เมื่อมีเหตุปัจจัยที่เหมาะสมกิเลสก็จะแสดงตัวออกมาใหม่)
จนทำให้เข้าใจผิดได้ว่า ตนเองก้าวหน้าไปถึงขั้นนั้นแล้วจริงๆ และอาจเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ต่อเนื่องไปจนถึงขั้นเกิดมรรคผลเทียมขึ้นมาเลยก็ได้
ในสมัยโบราณ (ถ้าจำไม่ผิด ผู้ดำเนินการเคยอ่านเรื่องนี้ในอรรถกถาของพระไตรปิฎก ฉบับมหามกุฏฯ ที่มี 91 เล่ม) มีภิกษุ 2 รูป เข้าใจผิดว่าท่านได้เป็นพระอรหันต์แล้ว มีผู้ที่รู้ว่าท่านทั้งสองยังเป็นปุถุชนอยู่ ปรารถนาจะช่วย จึงใช้วิธีให้ทำเป็นช้างวิ่งตรงเข้าไป จนจะชนภิกษุรูปหนึ่ง ภิกษุรูปนั้นตกใจ กลัวตาย จึงรู้ตัวว่าตนยังเป็นปุถุชนอยู่ ส่วนภิกษุอีกรูปหนึ่งใช้วิธีให้นั่งเพ่งนางอัปสร ไม่นานกามราคะของภิกษุรูปนั้นก็แสดงตัวออกมา จึงรู้ตัวว่ายังเป็นปุถุชนอยู่เช่นกัน ต่อมาท่านทั้งสองจึงทำความเพียร เจริญวิปัสสนาต่อไป จนบรรลุเป็นพระอรหันต์ทั้งสองรูป
การเข้าใจผิดเรื่องผลของการเจริญวิปัสสนานั้นเกิดขึ้นได้ง่าย เพราะธรรมดากิเลสนั้นนอกจากจะถูกทำลายอย่างถาวรด้วยวิปัสสนาปัญญาแล้ว ยังอาจถูกกด หรือข่มเอาไว้ได้หลายวิธี เช่น ด้วยอำนาจของสมาธิ การพิจารณาแล้วข่มเอาไว้ การข่มด้วยสติ การน้อมใจแล้วข่มเอาไว้ ฯลฯ ซึ่งวิธีการเหล่านี้จะซ่อนกิเลสเอาไว้ได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อสบโอกาสที่เหมาะสมกิเลสเหล่านั้นก็จะแผลงฤทธิ์ออกมาได้ใหม่
ดังนั้น ผู้ปฏิบัติจึงต้องระวังให้ดี ไม่เช่นนั้นแล้วญาณเทียมจะเกิดขึ้นได้ การปฏิบัติโดยการรับรู้สภาวะที่เกิดขึ้นจริงในปัจจุบัน ไม่ต้องสนใจผลที่จะเกิดในอนาคต และไม่ต้องไปเทียบชั้นญาณกับทฤษฎีจะปลอดภัยกว่า ขอให้ศึกษาวิธีการปฏิบัติให้เข้าใจอย่างชัดเจนเป็นใช้ได้ หลังจากนั้นก็คอยดู คอยสังเกตสภาวะที่ปรากฏให้เห็นจริงๆ ในขณะนั้น แล้ววิปัสสนาญาณก็จะเกิดขึ้นเอง อย่าใจร้อน ถ้ามีกัลยาณมิตรคอยแนะนำตามสมควรก็จะยิ่งดีขึ้นไปอีก

ญาณ๑๖ หรือ โสฬสญาณ

ญาณ๑๖ หรือ โสฬสญาณ

และ วิปัสสนาญาณ
        เป็นการรวบรวมลำดับญาณขึ้นในภายหลังโดยพระอรรถกถาจารย์ เพื่อเป็นการจำแนกให้เห็นลำดับญาณหรือภูมิรู้ภูมิธรรมทางปัญญาที่เกิดขึ้น,  ในญาณทั้ง๑๖นี้ มีเพียงมรรคญาณ และผลญาณเท่านั้นที่เป็นญาณขั้นโลกุตระ  คือ เหนือหรือพ้นจากทางโลก จึงหลุดพ้นหรือจางคลายจากทุกข์ตามมรรค,ตามผลนั้นๆ   ส่วนที่เหลือยังจัดเป็นขั้นโลกียะทั้งสิ้น,  นักปฏิบัติไม่ต้องปฏิบัติตามเป็นลำดับขั้น  เป็นเพียงแค่การแสดงภูมิญาณในวิปัสสนาญาณต่างๆที่เกิดขึ้นเพียงเท่านั้น  เพื่อให้เป็นเพียงเครื่องรู้ เครื่องระลึก เครื่องเตือนสติ ในการปฏิบัติว่าดำเนินไปอย่างถูกต้องแนวทางการวิปัสสนา กล่าวคือ เพื่อพิจารณาการปฏิบัติว่าเป็นไปเพื่อส่งเสริมหรือสั่งสมให้เกิดวิปัสสนาญาณต่างๆเหล่านี้ หรือไม่,   อันญาณต่างๆเหล่านี้ล้วนจักเกิดขึ้นเองตามเหตุปัจจัยจากความรู้เข้าใจอันแจ่มแจ้งและการปฏิบัติเท่านั้น  จึงยังให้เกิดญาณ ที่หมายถึง การรู้เข้าใจอย่างแจ่มแจ้งตามความเป็นจริงนั้นๆ ด้วยปัญญาจักขุ ที่หมายถึงปัญญานั่นเอง กล่าวคือ ไม่เห็นเป็นไปตามความเชื่อหรือความอยากความยึดของตนเอง แต่เห็นเป็นไปหรือเข้าใจอย่างถูกต้องตามความเป็นจริงของสิ่ง(ธรรม)นั้นๆด้วยปัญญา
        ส่วนวิปัสสนาญาณนั้น เป็นการจำแนกแตกธรรม ที่จัดแสดงเน้นว่าญาณใดในโสฬสญาณทั้ง ๑๖ ข้างต้น ที่จัดเป็นการปฏิบัติวิปัสสนาหรือการปฏิบัติหรือวิธีการเรืองปัญญาในการดับทุกข์  ซึ่งได้จำแนกออกเป็น ๙  กล่าวคือ ข้อ ๔- ๑๒ ในโสฬสญาณนั่นเอง
โสฬสญาณ หรือญาณ ๑๖
ญาณ ๑๖  ญาณที่เกิดแก่ผู้บำเพ็ญวิปัสสนาจนถึงจุดหมาย  คือมรรคผลนิพพาน ๑๖ อย่าง คือ
       ๑. 
นามรูปปริจเฉทญาณ ญาณกำหนดแยกนามรูป 
คือปัญญากำหนดรู้เข้าใจในนามและรูป
       ๒. 
(นามรูป) ปัจจัยปริคคหญาณ ญาณกำหนดจับปัจจัยแห่งนามรูป 
คือปัญญากำหนดรู้ทั้งในนามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย
       ๓. 
สัมมสนญาณ ญาณพิจารณานามรูปโดยไตรลักษณ์
       ๔. - ๑๒. 
ตรงกับวิปัสสนาญาณ ๙
       ๑๓. 
โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตรคือหัวต่อที่ข้ามพ้นภาวะปุถุชน
       ๑๔. 
มรรคญาณ(มัคคญาณ) ญาณในอริยมรรค เช่น โสดาปัตติมรรค
       ๑๕.
 ผลญาณ ญาณในอริยผล เช่น โสดาปัตติผล เป็นพระโสดาบัน
       ๑๖. 
ปัจจเวกขณญาณ 
ญาณที่พิจารณาทบทวน
       ญาณ ๑๖ นี้เรียกเลียนคำบาลีว่า โสฬสญาณ หรือ เรียกกึ่งไทยว่า ญาณโสฬส

วิปัสสนาญาณ  ญาณที่นับเข้าในวิปัสสนาหรือญาณที่จัดเป็นวิปัสสนามี ๙ อย่าง คือ
       ๑. 
อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นความเกิดและความดับแห่งนามรูป
       ๒. 
ภังคานุปัสสนาญาณ ญาณตามเห็นจำเพาะความดับเด่นขึ้นมา
       ๓. 
ภยตูปัฏฐานญาณ ญาณอันมองเห็นสังขารปรากฏเป็นของน่ากลัว
       ๔. 
อาทีนวานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นโทษ
       ๕. 
นิพพิทานุปัสสนาญาณ ญาณคำนึงเห็นด้วยความหน่าย
       ๖. 
มุจจิตุกัมยตาญาณ ญาณหยั่งรู้อันให้ใคร่จะพ้นไปเสีย
       ๗. 
ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ ญาณอันพิจารณาทบทวนเพื่อจะหาทาง
       ๘. 
สังขารุเปกขาญาณ ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลางต่อสังขาร
       ๙. 
สัจจานุโลมิกญาณ 
ญาณเป็นไปโดยควรแก่การหยั่งรู้อริยสัจจ์
ดังมีรายละเอียดพอสังเขปดังนี้
        ๑. นามรูปปริจเฉทญาณ หรือ สังขารปริเฉท  ญาณหรือความรู้ความเข้าใจในรูปและนาม คือแยกออกด้วยความเข้าใจว่าสิ่งใดเป็นรูปธรรม อันสัมผัสได้ด้วยอายตนะทั้ง๕ อันมี ตา หู จมูก ลิ้น  กาย    สิ่งใดเป็นนามธรรม อันเพียงสัมผัสได้ด้วยใจอย่างถูกต้อง   เหล่านี้เป็นความเข้าใจขั้นพื้นฐานในการพิจารณาธรรมให้เข้าใจยิ่งๆขึ้นไป (เป็นการเห็นด้วยปัญญาว่า สักแต่ว่า นาม กับ รูป ไม่มีตัวตนแท้จริง)  -  เรียกง่ายๆว่าเห็น นาม รูป
        ๒. นามรูปปัจจัยปริคคหญาณ หรือ สัมมาทัสสนะ  ญาณที่เข้าใจในเหตุปัจจัย คือรู้เข้าใจว่านามและรูปว่าล้วนเกิดแต่เหตุปัจจัย  พระอรรถกถาจารย์ในภายหลังๆเรียกว่าเป็น "จูฬโสดาบัน" คือพระโสดาบันน้อย ที่ถือว่าเป็นผู้มีคติหรือความก้าวหน้าอย่างแน่นอนในพระศาสนา (เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่าเกิดแต่เหตุปัจจัย)  -  เห็นความเป็นเหตุเป็นปัจจัยกันจึงเกิดขึ้น
        ๓. สัมมสนญาณ  ญาณพิจารณา  พิจารณาเห็นการเกิด การตั้งอยู่อย่างแปรปรวน การดับไป คือเห็นด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ใน ความไม่เที่ยง,แปรปรวนและดับไปทั้งหลายตามแนวทางพระไตรลักษณ์นั่นเอง (เห็นด้วยปัญญาว่า สิ่งทั้งหลายสักแต่ว่า ล้วนไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตาไม่เป็นแก่นแกนแท้จริง)  -  เห็นพระไตรลักษณ์
        ๔. อุทยัพพยญาณ (อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ) ญาณอันเห็นการเกิดดับของขันธ์ ๕ หรือเบญจขันธ์  หรือการเห็นการเกิดดับของรูปและนามนั่นเอง  คือพิจารณาจนเห็นตามความเป็นจริงในการการเกิดขึ้นและดับไปของขันธ์ ๕ จนเห็นได้ด้วยปัญญา(ปัญญาจักขุ)ในปัจจุบันจิตหรือปัจจุบันธรรมคือในขณะที่เกิดและค่อยๆดับสลายลงไป (เห็นและเข้าใจสภาวะธรรมดังกล่าวในแง่ปรมัตถ์ เช่นเห็นสังขารขันธ์ความคิดที่ผุดว่าเพราะสังขารนี้จึงเป็นทุกข์  ไม่ใช่รายละเอียดปลีกย่อยของความคิดนั้นๆ  และไม่ปรุงแต่งต่อในสิ่งที่เห็นนั้นๆด้วยถ้อยคิดใดๆ  ดังการปฏิบัติในสติปัฏฐาน ๔ เป็นต้น)  -  เห็นการเกิดดับของรูปและนาม หรือกระบวนธรรมของขันธ์๕ ทางปัญญา
        ๕. ภังคานุปัสสนาญาณ (ภังคานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเห็นการแตกดับ เมื่อเห็นการเกิดดับบ่อยๆ ถี่ขึ้น ชัดเจนขึ้น ก็จักเริ่มคำนึงเด่นชัดขึ้นด้วยปัญญา ในความดับไป มองเห็นเด่นชัดขึ้นที่จิตที่หมายถึงปัญญานั่นเอง ถึงการต้องดับสลายไปของนาม รูป  หรือของขันธ์ต่างๆ   การดับไปจะเห็นได้ชัด ถ้าอุเบกขา ที่หมายถึง การเป็นกลางวางทีเฉย รู้สึกอย่างไรไม่เป็นไร แต่ไม่เอนเอียงแทรกแซงด้วยถ้อยคิดปรุงแต่งใดๆ  ก็จะเห็นการดับไปด้วยตนเองชัดแจ้งเป็นลำดับ โดยปัจจัตตัง -  เห็นการดับ
        ๖. ภยญาณ (ภยตูปัฏฐานญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันมองเห็นสังขารหรือนามรูปว่า เป็นของที่มีภัย  เพราะความที่ไปเห็นด้วยปัญญาว่า สังขารหรือนามรูปต่างล้วนไม่เที่ยง ต้องแปรปรวน แตกสลาย ดับไป ไม่มีแก่นแกนตัวตนอย่างแท้จริง  ถ้าไปยึดไปอยากย่อมก่อทุกข์โทษภัย  เวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎต่อไปไม่มีที่สิ้นสุด  -  เห็นสังขารเป็นของมีภัย ต้องแตกดับเป็นธรรมดา  จึงคลายความอยากความยึดในสังขารต่างๆ
        ๗. อาทีนวญาณ (อาทีนวานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณคำนึงเห็นโทษ เมื่อเห็นสิ่งต่างล้วนต้องดับแตกสลายไปล้วนสิ้น จึงคำนึงเห็นโทษ ที่จักเกิดขึ้น  ว่าจักเกิดทุกข์โทษภัยขึ้น จากการแตกสลายดับไปของสังขารหรือนามรูปต่างๆถ้าไปอยากหรือยึดไว้   เกิดสังสารวัฏการเวียนว่ายตายเกิดในภพในชาติอันเป็นทุกข์อันเป็นโทษ  -  เห็นโทษ
        ๘. นิพพิทาญาณ (นิพพิทานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันคำนึงถึงด้วยความหน่าย จากการไปรู้ตามความเป็นจริงของสังขารหรือขันธ์๕ ว่าล้วนไม่เที่ยง แปรปรวน และแตกดับไปเป็นที่สุด ไม่สามารถควบคุมบังคับได้ตามปรารถนาเป็นที่สุด  จึงเกิดความหน่ายต่อสังขารต่างๆเพราะปัญญาที่ไปรู้ตามความเป็นจริงอย่างที่สุดนี่เอง  -  ความหน่ายคลายความยึดความอยากหรือเหล่าตัณหาทั้งปวงจากการไปรู้ความจริง
        ๙. มุญจิตุกัมยตาญาณ (มุจจิตุกัมยตาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)   ญาณหยั่งรู้ มีความหยั่งรู้ว่าต้องการพ้นไปเสียจากสังขารชนิดก่อทุกข์  คือ ปรารถนาที่จะพ้นไปจากสังขารหรือขันธ์๕ที่ก่อให้เกิดทุกข์ (หมายถึงอุปาทานขันธ์๕)  -  ปรารถนาพ้นไปจากทุกข์
        ๑๐. ปฏิสังขาญาณ (ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณพิจารณาทบทวนเพื่อให้เห็นทางหลุดพ้นไปเสียจากภัยเหล่านั้น  ดังเช่น โยนิโสมนสิการหรือปัญญาหยิบยกสังขารหรือขันธ์๕(นามรูป)ขึ้นมาพิจารณาโดยพระไตรลักษณ์ เพื่อหาอุบายที่จะปลดเปลื้องหรือปล่อยวางในสังขารหรือขันธ์๕เหล่านี้   เพื่อให้หลุดพ้นจากภัยเหล่านั้น  -  ทบทวนพิจารณา
        ๑๑. สังขารุเปกขาญาณ (สังขารุเปกขาญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเป็นไปโดยความเป็นกลาง(อุเบกขา)ต่อสังขาร  เมื่อรู้เข้าใจตามความเป็นจริงของสิ่งทั้งหลายทั้งปวงด้วยปัญญา เช่น สังขารอย่างปรมัตถ์แล้ว ก็วางใจเป็นกลางต่อสังขาร และกายสังขารได้ ไม่ยินดี ไม่ยินร้าย ไม่ติดใจในสังขารทั้งหลาย  จึงโน้มน้อมที่จะมุ่งสู่ความหลุดพ้นหรือพระนิพพาน  -  วางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งปวง
        ๑๒. อนุโลมญาณ (สัจจานุโลมิกญาณ - เรียกแบบ วิปัสสนาญาณ)  ญาณอันเป็นไปโดยการหยั่งรู้อริยสัจ เมื่อวางใจเป็นกลางต่อสังขารทั้งหลายแล้ว ญาณอันคล้อยตามอริยสัจย่อมเกิดขึ้นในลำดับถัดไป  เป็นขั้นสุดท้ายของวิปัสสนาญาณ
        ๑๓. โคตรภูญาณ ญาณครอบโคตร หรือญาณอันเกิดแต่ปัญญาที่เป็นหัวต่อระหว่างภาวะปุถุชนและภาวะอริยบุคคล
        ๑๔. มรรคญาณ ญาณอันสำเร็จให้เป็นอริยบุคคลต่อไป
        ๑๕. ผลญาณ เมื่อมรรคญาณเกิดขึ้นแล้ว ผลญาณก็เกิดขึ้นเป็นลำดับถัดไปจากมรรคญาณนั้นๆในชั่วมรรคจิต  ตามลำดับแต่ละขั้นของอริยบุคคล
        ๑๖. ปัจจเวกขณญาณ ญาณที่เกิดขึ้นเพื่อพิจารณามรรค ผล กิเลสที่ละแล้ว กิเลสที่ยังเหลืออยู่ และพิจารณานิพพาน (เว้นพระอรหันต์ไม่มีการพิจารณากิเลสที่ยังเหลืออยู่) เป็นอันจบกระบวนการบรรลุมรรคผลในขั้นหนึ่งๆคืออริยบุคคลขั้นหนึ่งๆ   หรือถึงพระนิพพาน